by Zoe | Apr 3, 2020 | ความรู้ศิลปะ
ว่าด้วยเรื่องของศิลปะ เรานึกถึงอะไรบ้าง?
หลายคนคงตอบคล้ายๆ กันใช่ไหมคะว่า ศิลปะคือการวาดรูป คือการจรดพู่กันลงไปบนแคนวาส ไม่ผิดเลยค่ะที่เราจะมองหรือนึกเกี่ยวกับคำว่า ศิลปะ เป็นแบบนั้น วันนี้เราอยากนำเสนอศิลปะในรูปแบบต่างๆ ให้เพื่อนๆ ได้รู้จักเรื่องราวของศิลปะมากขึ้น แท้จริงแล้วนั้นศิลปะอยู่รอบๆ ตัวเราหรือถ้าจะให้พูดคือ เราแทบไม่รู้เลยว่าจริงๆ สิ่งที่เห็นเหล่านี้คือศิลปะแขนงหนึ่ง ประเภทของศิลปะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ วิจิตรศิลป์ (Fine Arts) และ ประยุกต์ศิลป์ (Applied Arts)
วิจิตรศิลป์ (Fine Arts)
วิจิตรศิลป์ (Fine Arts) ภาพจาก fineartamerica.com
ประยุกต์ศิลป์ (Applied Arts)
ประยุกต์ศิลป์ (Applied Arts) ภาพจาก yosigo_yosigo
วันนี้เรามาลงลึกกันในเรื่อง ประยุกต์ศิลป์ Applied Arts รู้สึกคุ้นๆ กับคำนี้ไหมคะ?
ประยุกต์ศิลป์ สามารถแยกคำออกมาได้แบบนี้ค่ะ ประยุกต์คือ ความสามารถในการประยุกต์สิ่งต่างๆ ให้เข้ากับยุคสมัยและเอาไปใช้ได้จริง ศิลป์คือ ศิลปะนั่นเองค่ะ เมื่อเอา 2 คำนี้มารวมกัน ประยุกต์ศิลป์คือการประยุกต์ศิลปะเข้ากับการใช้งานได้จริง ตรงนี้จะแตกต่างกันกับ วิจิตรศิลป์ (Fine Arts) โดยสิ้นเชิง วิจิตรศิลป์เน้นไปที่การทำชิ้นงานออกมาแบบไร้ขีดจำกัด ไม่มีกฏเกณฑ์ใดๆ หรือเกี่ยวข้องกับการใช้งานใดๆ แล้วเราจะมองรู้ได้ยังไงว่าสิ่งไหนเรียกว่า ประยุกต์ศิลป์ (Fine Arts) คำนิยามที่เหมาะสมดูจะเป็น การออกแบบสิ่งที่ดูทันสมัยและสามารถใช้งานได้จริง เช่นการออกแบบตึก เก้าอี้ ตกแต่งภายใน เสื้อผ้า สิ่งพิมพ์ เป็นต้น
ประยุกต์ศิลป์ (Applied Arts) จำแนกได้ 5 ประเภท
- สถาปัตยกรรม (Architecture) หลายๆ คนจะคุ้นเคยและเห็นภาพได้ง่ายมากที่สุด สิ่งที่เป็นตึกราบ้านช่อง อาคารต่างๆ การออกแบบสิ่งแวดล้อมที่เข้ามาผสมผสานให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี รวมไปถึงการวางผังเมือง
- ศิลปอุตสาหกรรม (Industrial Design) เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน จำพวกเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ ทั้งนี้การผลิตขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีในการผลิต ณ ขณะนั้น
- มัณฑนศิลป์ (Decorative Art) หรือเรียกว่า ศิลปะการตกแต่ง เช่นการตกแต่งภายใน ไม่ว่าจะเป็นตกแต่งภายในบ้าน ภายในอาคารเป็นต้น
- ศิลปหัตถกรรม (Art Crafts) คือการทำด้วยมือ จึงเป็นงานที่ทำออกมาเพื่อใข้งานและได้คุณค่าทางใจ เช่นงานปั้น งานสาน งานทำมือ เป็นต้น
- พาณิชย์ศิลป์ (Commercial Art) การออกแบบเพื่อสนับสนุนการค้าและบริการ เช่นการออกแบบโปสเตอร์ รูปเล่ม หนังสือ ภาพประกอบ การประชาสัมพันธ์ การออกแบบตัวอักษร เช่น คาลิกราฟฟี่ Calligraphy
ศิลปอุตสาหกรรม (Industrial Design) ภาพจาก Mini Cooper
มัณฑนศิลป์ (Decorative Art) ภาพจาก Doublev.space
ในประยุกต์ศิลป์ มีคำหนึ่งซ่อนอยู่ภายใน นั่นคือคำว่า “ออกแบบ” ในการออกแบบนั้น นำมาซึ่งการเกิดคุณค่า ประโยชน์ใช้สอย และควบคู่ไปกับความสวยงามของชิ้นงานนั้นๆ
พาณิชย์ศิลป์ (Commercial Art) : คาลิกราฟฟี่ ภาพจาก happilyeverafteretc
ความหมายของการออกแบบ อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่า ศิลปะนั้นอยู่รอบตัวเรา ดังนั้นในชีวิตของเราจะขาดศิลปะและการออกแบบไปไม่ได้เลย และการออกแบบนั้นถูกเชื่อมโยงเข้ากับทุกขณะของการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ศิลปะนั้นจึงอยู่ในทุกแห่ง ขอเพียงเราเปิดตาและใจมองดูสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา
มุมมองในการออกแบบ เป็นแบบไหนในความคิดหรือความเข้าใจของเราได้บ้าง บางคนว่าเพื่อความสวยงาม ตามจินตนาการ หรือการออกแบบเพื่อการใช้งาน เรามาลงลึกไปอีกนิดกับความหมายของการออกแบบ แท้จริงแล้วสิ่งที่เราให้ความสำคัญกับการออกแบบคือ การออกแบบผลงานโดยไม่เคยมีผู้ใดเคยออกแบบมาก่อน การออกแบบความคิดสร้างสรรค์ที่สดใหม่ ความสนุกในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน โดยการนำเอาศิลปะการออกแบบเข้ามา ที่เรามุ่งเน้นในบทความนี้คือ ประยุกต์ศิลป์ (Applied Arts) งานที่ออกมาจึงมีองค์ประกอบของศิลปะเข้ามาผสมผสาน ทั้งเรื่องของการตกกระทบของแสง เงา และสีที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวของสิ่งนั้นๆ โดยปรกติแล้วเราจะมองเห็นภาพเป็นแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่าเราจะแยกออกได้อย่างไร ระหว่าง 2 มิติ และ 3 มิติ
2 มิติ คือภาพที่เราเห็นแค่ด้านเดียว มองไม่เห็นส่วนมุม แสง และเงา
- 2 มิติ คือภาพที่เราเห็นแค่ด้านเดียว มองไม่เห็นส่วนมุม แสง และเงา
- 3 มิติ เราสามารถมองเห็นรูปทรง แสง เงา และสีได้อย่างชัดเจน
2 มิติ ภาพจาก Konrad Kirpluk
3 มิติ ภาพจาก mindsparklemag
เพื่อนๆ เคยสังเกตุไหมคะว่า ตึกที่เรามองเห็นนั้นเป็นศิลปะของการออกแบบอย่างหนึ่ง เพราะว่าเวลาที่เรามองตึกเดียวกันในตอนเช้า กลางวัน เย็น หรือเวลาค่ำ ตึกเดียวกันแต่ให้ความรู้สึกต่างกัน เป็นคำอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า เป็นการนำศิลปะทั้งจากธรรมชาติและการออกแบบมาผสมผสานให้เกิดชิ้นงาน ประโยชน์ใช้สอย รวมไปถึงความสวยงาม และไม่น่าเชื่อเลยค่ะว่า สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้การผลิตผลงานชิ้นนึง จะมีส่วนสำคัญในการสร้าง ความหวัง ความฝัน และแรงบันดาลใจให้คนมากมาย
ความแตกต่างของแสง เงา และสีในช่วงแต่ล่ะเวลา
ขอบคุณภาพจาก King Power Mahanakhon
สรุปแล้ว ประยุกต์ศิลป์นั้นคืออะไร
สุดท้ายนี้วิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์แตกต่างกันสุดตัว รวมถึงการใช้งานที่แตกต่างกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ประยุกต์ศิลป์จะไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์แทรกอยู่ การถ่ายทอดความคิด เป้าหมาย ที่ทำให้เกิดคุณค่าในการใช้สอย ปรับปรุงผลงานให้มีคุณค่ามากขึ้น ใดใดแล้วศิลปะไม่อาจแยกจากการสร้างสรรค์และสรรสร้างได้ งานออกแบบนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของผู้คน ได้อย่างที่เราไม่อาจคาดคิด ขอให้เราอยู่ในความสวยงามของงานศิลปะสืบไป เพราะศิลปะนั้นสามารถเร้าโลมจิตใจเราได้ดีทีเดียว
by AnyPencils | Mar 26, 2020 | ความรู้ศิลปะ
Digital Painting (ดิจิทัล เพนท์ติ้ง) คือเทคนิคการผสมผสานระหว่างศิลปะยุคใหม่ซึ่งรวมไปถึงการวาดรูประบายสี โดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์ดิจิทัล เช่นคอมพิวเตอร์ หรือแท็บเบล็ต และสไตลัส (stylus) หรือ เมาส์ปากกา (tablet pen) ควบคู่กับซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการวาดรูปต่างๆ ซึ่งก็จะมีการใช้เครื่องมือที่เรียกว่าบรัช (Brush) ที่จำลองการใช้งานอุปกรณ์วาดรูปเหมือนวิธีปกติ เช่น ดินสอ ปากกา ดินสอสี หัวแปรงต่างๆ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ คือหนึ่งในศิลปะประเภท Digital Art ที่มีการครอบคลุมถึงการออกแบบงานกราฟฟิค งานอนิเมชั่น และงานประเภทมีเดียต่างๆ
ทำไมนักวาดถึงเริ่มฝึกฝนการวาด Digital Painting และจุดแตกต่างกับการวาดบนกระดาษปกติ
ในโลกนี้มีศิลปินมากมายที่ผันตัวเองมาสู่ Digital Painting อย่างเต็มตัว ซึ่งก็จะมีชื่อเรียกพวกเค้าว่า Digital Artists เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่าหากมองในระยะยาว เพราะมีการซื้ออุปกรณ์เพียงครั้งเดียว เช่นคอมพิวเตอร์ เมาส์ปากกา หรือบางคนอาจจะวาดผ่าน iPad และ Apple Pencil โดยไม่จำเป็นต้องซื้อกระดาษ หรือหัวแปรงขนาดต่างๆ ที่นักวาดต้องซื้อ อีกทั้งระบบสีแบบดิจิทัลทำให้ศิลปินนั้นเลือกสีเฉดใด เบอร์ใดก็ได้บนโลกนี้ โดยไม่ต้องมานั่งผสมสีเองบนแผ่นหรือถาดเหมือนการวาดบนกระดาษปกติ
ข้อดีอีกข้อของการวาด Digital Painting คือการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้แบบรวดเร็ว และประหยัดเวลาได้อย่างมาก ซึ่งมักจะเป็นที่ต้องการในวงการผลิตเกมส์ หนัง ภาพยนตร์ เพราะว่าสามารถปรับเปลี่ยนสี ทั้งภาพได้ผ่านซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการวาดรูป ไม่จำเป็นต้องลงทุนวาดใหม่ทั้งหมดเพื่อปรับเฉดสี อีกทั้งยังสามารถวาดทับ ลบ แก้ไขบางจุดด้วยบรัชที่มีได้มากเท่าที่ต้องการ ทำให้การวาดรูปนั้นรวดเร็ว ส่วนขนาดของไฟล์ที่ใช้ทำงานนั้นก็สามารถจะสร้างได้ใหญ่เท่าที่ต้องการ โดยเพียงการวาดบนหน้าจอเล็กๆ ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะขนาดบิลบอร์ดใหญ่ๆ ได้เลย ซึ่งข้อดีเหล่านี้คือจุดสำคัญที่ทำให้เกิดข้อแตกต่างใหญ่ระหว่างการวาดบนกระดาษ หรือแคสวาสปกติ และ Digital Painting
ฟีเจอร์สำคัญของการวาด Digital Painting ที่ทุกซอฟท์แวร์ต้องมี
- Layers – หัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงานด้วยวิธี Digital Painting คือการเพนท์และวาดบนสิ่งที่เรียกว่าเลเยอร์ (layer) ที่ทับซ้อนกันไปมาได้มากเท่าที่ต้องการ เมื่อนำทุกเลเยอร์ที่วาดมารวมกันก็ก่อให้เกิดผลงานได้ 1 ชิ้นเลย หากต้องการจะแก้ไขจุดเล็กใดๆ ก็แค่เลือกเลเยอร์นั้นเพื่อแก้ไขได้โดยไม่กระทบกับเลเยอร์อื่นๆ ที่วาดเอาไว้
- Brush – หัวแปรงเปรียบเสมือนอาวุธของนักวาดรูป หัวแปรงที่แตกต่างกัน ในเรื่องของขนาด และเท็กซ์เจอร์ ล้วนเกิดจากการใช้บรัชที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ผลงานมีเสน่ห์ ไม่ดูแข็งทื่อ หรืออ่อนนุ่มฟุ้งเกินไป ซึ่งยิ่งนักวาดมีความถนัดในการใช้หัวบรัชที่แตกต่างกันมากเท่าไหร่ ยิ่งสร้างสรรค์ผลงานที่ดูมีมิติและเสน่ห์มากขึ้นเท่านั้น
- Colour Wheel – วงจรสีสำหรับ Digital Painting นั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะนักวาดไม่จำเป็นจะต้องผสมสีเองเหมือนสีไม้ หรือสีน้ำมัน แต่เพียงกดเลือกจิ้มลงไปบนวงจรสีที่ต้องการ อีกทั้งยังสามารถใช้เทคนิคดูดสีจากรูปภาพทั่วไป หรือดาวน์โหลดพาเลทสี (Palette) มาใช้งานต่อได้ นอกจากช่วยประหยัดเวลาการผสมสีไปได้เยอะมากแล้วยังสามารถเลือกจใช้สีได้อย่างแม่นยำ
- Eraser – ยางลบของซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการวาดรูปนั้นทำงานเหมือนกันทุกตัว คือใช้เพื่อลบลายเส้นหรือสีที่เราทำผิดพลาดไว้ หรือเอาไว้เป็นหนึ่งในเทคนิคการตัดเส้นตัดขอบของงานได้เช่นกัน
- Smudge Tool – ในการวาดรูปปกตินั้นเรามักจะใช้นิ้ว หรือใช้อุปกรณ์บางอย่างเพื่อเกลี่ยสี หรือไล่โทนของปลายดินสอให้ดูฟุ้งๆ เฉลี่ยเข้าหากันโดยการถูไปถูมา ซึ่งบนซอฟท์แวร์วาดรูปนั้นก็จะมีลักษณะการทำงานที่คล้ายกันคือใช้เพื่อถูสีหรือเส้นไปมาเหมือนเป็นการเกลี่ยๆ
- Canvas – แคนวาสคือพื้นที่การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เปรียบเหมือนกระดาษแผ่นนึงที่เราจะกำหนดขนาดเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งยิ่งขนาดใหญ่ก็ใช้พื้นที่ในการจัดเก็บไฟล์มากเท่านั้น การวาดบนแคนวาสบนดิจิทัลนั้นมีข้อดีมากๆ คือเราไม่ต้องวาดบนพื้นที่ใหญ่จริงๆ เหมือนกระดาษ เพียงแต่เราซูมเข้าซูมออกหน้าจอขณะวาด ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ใหญ่เท่าไหร่ก็ได้ เพียงแค่วาดบนหน้าจอเล็กๆ
อุปกรณ์สำคัญที่ต้องมีในการเป็น Digital Artist
- Drawing Tablet – การวาดรูปแบบดิจิทัลนั้นมีตัวเลือกมากมายในการนำมาใช้วาดเปรียบเสมือนแผ่นกระดาษจำลองที่จะต้องวาดอยู่บนนั้น และเจ้าตัว tablet นี้เองที่จะส่งผลน้ำหนัก แรงกด องศาของการวาดผ่านไปที่ผลงานของเราบน canvas ตรงหน้าจอ หากคุณถนัดการวาดรูปด้วยคอมพิวเตอร์ผ่านซอฟท์แวร์ประเภท Adobe Photoshop นั้นก็จะมี tablet ยี่ห้อดังๆ เช่น Wacom
- Stylus – สไตลัส คือปากกาจำลองที่จะส่งผ่านน้ำหนัก แรงกด และองศาการวาดลงบน drawing tablet ซึ่งราคาที่สูงก็จะยิ่งมีความละเอียดในการตรวจจับน้ำหนักที่นักวาดกดลงไปได้ดี ซึ่งเรียกว่า pressure หรือ sensitivity เป็นค่าที่เอาไว้วัดว่าปากกาจำลองนั้นมีความละเอียดมากน้อยแค่ไหนเวลาที่เราเลือกซื้อสไตลัส ส่วนใหญ่แล้วจะมาพร้อมกับ drawing tablet เป็นเซ็ทคู่กัน
- Painting Software – ซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการวาดรูปนั้นแล้วแต่อุปกรณ์ที่ถนัดเลย ถ้าหากคุณเลือกวาดด้วยคอมพิวเตอร์ ก็สามารถใช้ซอฟท์แวร์ดังกล่าวเช่น Adobe Photoshop, Clip Studio Paint, Paint Sai Tool หรือ CorelDraw แต่ถ้าถนัดการวาดบน iPad นั้นก็จะมีแอพลิเคชั่นที่นักวาดมักจะใช้กันเพราะง่ายและสะดวก เช่น Procreate, Adobe Fresco, Autodesk Sketchbook และอื่นๆ
ข้อเสียของ Digital Painting
ถึงแม้ข้อดีจะเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ศิลปินที่เน้น Digital Painting เป็นหลักก็จะรู้ถึงข้อเสียมาบ้าง เช่น ศิลปินบางคนชินกับการวาดบนคอมพิวเตอร์มากกว่าการวาดบนกระดาษไปซะแล้ว หรือถ้าให้บางคนมาผสมสีที่ต้องการจากแม่สีบนถาดสีก็อาจจะทำไม่ได้ง่ายๆ เหมือนบน colour wheel และแน่นอนว่าตอนนี้ยังไม่มีซอฟท์แวร์หรือแอพลิเคชั่นวาดรูปตัวไหนที่ทำให้ได้ความรู้สึกเดียวกับบนกระดาษ หรือการวาดแบบดั้งเดิมได้ เพราะเรื่องของ texture และแสงเงาที่จะเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ในขณะที่รูปภาพที่วาดผ่านซอฟท์แวร์จะไม่มีแสงเงามาทำให้เกิดความรู้สึกเดียวกับบนกระดาษได้เลย
สรุปแล้ว Digital Painting คืออะไร
นักวาดรูปส่วนนึงในโลกนี้ที่ผันตัวมาเป็น Digital Artist จากการฝึกฝนและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะผ่านคอมพิวเตอร์หรือแท็บเบล็ดเพื่อวาดรูป เนื่องด้วยความสะดวกรวดเร็วในการวาดรูประบายสีกว่าการวาดบนกระดาษทั่วไป แต่ก็จะมีข้อจำกัดอย่างเช่นแสงและเงาของสิ่งแวดล้อมจริงนั้นจะไม่ส่งผลกับงานวาดของคุณเลย อีกทั้งยังไม่สามารถสร้างเนื้อสัมผัส (texture) ได้เหมือนจริง แต่ไม่ว่าคุณจะถนัดการวาดบนกระดาษหรือหน้าจอ ก็สามารถสร้างผลงานของตัวเองได้เพียงแค่หมั่นฝึกฝนบนสิ่งที่ชอบ